วันจันทร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2553

เบื้องหลังนิติกรรมอำพราง


สำนึกดีจิตสาธารณ จิตอาริยะ



คดียึดทรัพย์ครั้งประวัติศาสตร์ 76,000 ล้านบาท กำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ทุกฝ่ายได้ทำการยื่นคำแถลงปิดคดี ฝีมือของทนายความและอัยการก็เป็นส่วนหนึ่ง และการพิจารณาคดีความขององค์คณะผู้พิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีนี้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง

ต้องย้ำเพื่อความเข้าใจกับคนทั่วไปก่อนว่าการอายัดทรัพย์สินครั้งนี้ เป็นการอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับหุ้นเท่านั้น โดยเป็น เงินจากการขายหุ้นชินคอร์ปมีจำนวนเงินทั้งสิ้นประมาณ 69,000 ล้านบาท และเป็นเงินปันผลอีกประมาณ 7,000 ล้านบาท จึงเป็นที่มาของจำนวนเงิน 76,000 ล้านบาททรัพย์สินเงินทองส่วนอื่นๆ ไม่ได้ถูกอายัดแต่ประการใด

คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้พยายามนำเสนอต่อศาลฎีกาให้เชื่อว่าเกิดการกระทำในสองประเด็น คือ ประการที่หนึ่ง มีการซุกหุ้นในกิจการสัมปทานของรัฐในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายที่ได้ห้ามเอาไว้ และประการที่สองคือมีการกระทำและใช้อำนาจที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐเพื่อเอื้อประโยชน์ในหุ้นสัมปทานของรัฐที่ซุกอยู่

คตส.พยายามพิสูจน์ให้ศาลเชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน มีเจตนาซุกหุ้น บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นกิจการที่มีสัมปทานของรัฐ โดยยังคงได้รับผลประโยชน์อยู่เหมือนเดิมผ่านคนถือหุ้นตัวแทนในต่างประเทศ 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท แอมเพิลริช และวินมาร์ค และถือหุ้นผ่านตัวแทนในประเทศอีก 4 คน ได้แก่ลูก 2 คนคือ นายพานทองแท้ น.ส.พิณทองทา และซุกหุ้นผ่านญาติพี่น้องอีก 2 คนคือ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ถ้าศาลเชื่อได้ว่ามีการวางแผนเพื่อถือหุ้นแทนกันในขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ถือว่าฝ่าฝืนกฎหมายหลายฉบับ และมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการใช้อำนาจรัฐด้วย เพราะถ้ามาตรการของรัฐบาลที่เอื้อประโยชน์ให้กับหุ้นที่ซุกอยู่มากเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน ได้รับผลประโยชน์ทั้งราคาหุ้นและการปันผลมากขึ้นไปด้วย

ตัวอย่างจากบทความเรื่อง บันทึก “ลับ” ของพานทองแท้ ซึ่งได้ลงบทความในเว็บไซต์ www.manager.co.th เมื่อวันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 และในหนังสือพิมพ์ ASTV-ผู้จัดการรายวัน เมื่อวันพุธที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 แสดงให้เห็นแล้วว่า มีกระบวนการที่คุณหญิงพจมานได้สร้างหนี้สินให้กับนายพานทองแท้ (ลูกชาย) เกินความเป็นจริง โดยภายหลังที่คุณหญิงพจมานและพ.ต.ท.ทักษิณได้โอนหุ้นให้กับนายพานทองแท้ไปแล้ว นายพานทองแท้ก็ยังคงโอนเงินที่ได้รับจากการปันผลทั้งหมดไปเข้าบัญชีของคุณหญิงพจมานทุกครั้ง โดยอ้างเหตุผลว่าที่ต้องเป็นเช่นนี้เพราะลูกต้องจ่ายชำระหนี้ที่ค้างเอาไว้กับแม่

ความไม่แนบเนียนลักษณะนี้ยังเกิดขึ้นมาอีกกับ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร (เอม) ซึ่งเป็นลูกคนที่สอง เมื่ออายุครบ 20 ปี ซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว ก็ได้รับของขวัญวันเกิดโดยการโอนเงินจากบัญชีของคุณหญิงพจมานเป็นจำนวน 370 ล้านบาท แล้วก็ได้พักบัญชีเงินจำนวนนี้ประมาณ 2-3 เดือน หลังจากนั้น นายพานทองแท้ได้ขายหุ้นชินคอร์ป จำนวน 36.7 ล้านหุ้น ขายในราคาพาร์หุ้นละ 10 บาท มูลค่า 367 ล้านบาท ให้กับน.ส.พิณทองทา ทำให้น.ส.พิณทองทาได้ถือหุ้นชินคอร์ปจำนวน 36.7 ล้านหุ้น ในขณะที่นายพานทองแท้เหลือหุ้นชินคอร์ปประมาณ 36.695 ล้านหุ้น

ด้วยความเกือบพอดีกันของเงินจำนวนที่คุณหญิงพจมานโอนมาให้ น.ส.พิณทองทา กับจำนวนเงินที่ซื้อหุ้นชินคอร์ปเพื่อทำให้มีสัดส่วนการถือหุ้นระหว่างนายพานทองแท้ กับ น.ส.พิณทองทาเกือบเท่ากัน ตลอดจนเมื่อตรวจสอบประเพณีของครอบครัวนี้พบว่านายพานทองแท้ และน.ส.แพทองธาร (ลูกคนที่สาม) เมื่อมีอายุครบ 20 ปี ก็ไม่เคยได้รับเงินเป็นของขวัญลักษณะเช่นนี้ อีกทั้งนายพานทองแท้ก็ไม่เคยแบ่งเงินจากการขายหุ้นชินคอร์ปให้กับน.ส.แพทองธาร แต่ประการใด พฤติกรรมทั้งหมดนี้ คตส.จึงเชื่อว่าการซื้อขายครั้งนี้เป็นนิติกรรมอำพรางเพื่อปรับโครงสร้างหุ้นโดยมีคุณหญิงพจมาน ชินวัตรอยู่เบื้องหลัง

คนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต หลังการขายหุ้นชินคอร์ปไปแล้ว นายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทากลับให้การต่อศาลตรงกันว่าได้โอนเงินบางส่วนจากการขายหุ้นชินคอร์ปของตัวเองไปซื้อสโมสรแมนเชสเตอร์ซิตี้ ที่ประเทศอังกฤษ ในขณะที่นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศหลายครั้งว่าการซื้อสโมสรแมนเชสเตอร์ซิตี้นั้น “เป็นของตัวเอง ตัวเองเป็นผู้ลงทุน และแสดงบทบาทในสโมสรฯ ในฐานะเป็นเจ้าของอย่างชัดเจน”

ด้วยเหตุผลนี้ทำให้หุ้นที่ คตส.จึงเชื่อว่าได้เคยซุกหุ้นเอาไว้กับลูกทั้งสองคน เมื่อขายหุ้นชินคอร์ปแล้ว ก็โอนกลับคืนมาให้เพื่อการลงทุนและกำกับดูแลโดยนักโทษชายทักษิณอีกครั้งหนึ่งอยู่ดี

คนไว้วางใจนอกครอบครัวอีก 2 คนคือ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ปู) คตส.เชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ได้ใช้รูปแบบที่คล้ายคลึงกันกับกรณีของนายพานทองแท้ ชินวัตร คือ

“ยัดหนี้ให้ก่อนและรอเงินปันผลจากหุ้นที่ซุกไว้มาจ่ายคืน โดยอ้างว่าเพื่อชำระหนี้ที่ยัดให้”

คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ได้ขายหุ้นชินคอร์ป ให้กับนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ (พี่ชายบุญธรรม) มูลค่าประมาณ 450 ล้านบาท
โดยนายบรรณพจน์ ไม่มีการนำเงินส่วนตัวมาชำระค่าหุ้น แต่ได้ใช้วิธีติดหนี้คุณหญิงพจมาน โดยอ้างว่าได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 3 ฉบับตั้งแต่ปี 2542 ให้ไว้เป็นหลักประกันโดยไม่มีดอกเบี้ย

น่าสนใจตรงที่ว่าเวลาผ่านไป 3-4 ปี ไม่มีการชำระหนี้ด้วยเงินส่วนตัวของนายบรรณพจน์คืนเลยทั้งๆ ที่นายบรรณพจน์เป็นมหาเศรษฐีที่ร่ำรวย ซึ่งต่อมามีการนำเงินปันผลจากหุ้นชินคอร์ปมาผ่อนชำระหนี้ตั้งแต่ปี 2546 และชำระครบถ้วนเมื่อประมาณ 2547

เรื่องพิรุธที่อ้างว่าได้มีการออกตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อแสดงความเป็นหนี้ตั้งแต่ปี 2542 นั้น ปรากฏความจริงต่อมาว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับหนึ่ง ลงวันที่ 16 มีนาคม 2542 ได้ระบุว่า สัญญาจะจ่ายเงินชำระหนี้จำนวน 102 ล้านบาท ให้กับ “คุณหญิง” พจมาน ชินวัตร ทั้งๆ ที่ในขณะนั้น นางพจมาน ชินวัตร ยังไม่ได้ใช้คำนำหน้าว่า “คุณหญิง” เพราะ นางพจมาน ชินวัตร เป็น “คุณหญิง” เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2542 ไม่ใช่ก่อนวันที่ 16 มีนาคม 2542

เมื่อเห็นหลักฐานเช่นนี้ ประชาชนย่อมสงสัยว่าตั๋วสัญญาใช้เงินทั้งหมดอาจทำปลอมขึ้นมาใหม่โดยเขียน “วันที่ย้อนหลัง” สร้างหลักฐานเท็จว่าเป็นหนี้ต่อกันเพื่อที่จะได้เป็นข้ออ้างถึงเหตุผลในการเอาเงินปันผลไปให้คุณหญิงพจมาน ใช่หรือไม่!?

แต่บังเอิญว่าถูกจับได้ นายบรรณพจน์ จึงได้ให้การต่อศาลในภายหลังว่า “ตั๋วใบเดิมได้หายไปจึงออกตั๋วสัญญาฉบับใหม่” ทั้งๆ ที่คำอธิบายนี้ไม่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ในการแจ้งต่อ คตส.แม้แต่ครั้งเดียว

นายบรรณพจน์ “ได้รับเงินปันผลก็ไม่เคยนำไปใช้ส่วนตัวเลย” และนำเงินจากการปันผลของหุ้นชินคอร์ปมาจ่ายให้คุณหญิงพจมาน ชินวัตรอย่างเดียว โดยอ้างว่าเพราะมีหนี้สินต่อกัน ต่อมาในภายหลังนายบรรณพจน์ ได้เปิด “บัญชีใหม่” ให้แยกออกจากการรับจ่ายส่วนตัว แล้วโอนเงินจากการรวมเงินปันผลที่เหลือทั้งหมดในบัญชีใหม่นี้ รวมถึงเงินจากการขายหุ้นชินคอร์ปก็เข้าในบัญชีนี้เช่นกัน

ทั้งหมดนี้ทำให้ คตส.เชื่อว่า บรรณพจน์ ดามาพงศ์ คือหุ่นเชิดในการถือหุ้นชินคอร์ปคนสำคัญที่ได้รับความไว้วางใจเป็นอย่างยิ่งจากคุณหญิงพจมาน ชินวัตร!

สำหรับคนสุดท้าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับหุ้นจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2543 แผนการรูปแบบเดิมๆ ไม่ต่างจากนายบรรณพจน์ และพานทองแท้ คือเป็นการรับหุ้นโดยไม่ได้มีการชำระเงิน (ทั้งๆ ที่เป็นมหาเศรษฐีอีกคนหนึ่ง) แต่กลับให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อยอมรับว่าเป็นหนี้ต่อกันเป็นจำนวน 20 ล้านบาท

โปรดสังเกตให้ดีว่า “ยิ่งลักษณ์” ยอมรับว่าเป็นหนี้ “ทักษิณ” 20 ล้านบาท!

ช่างเป็นความบังเอิญอย่างร้ายกาจ รูปแบบของน.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ไม่ต่างพฤติกรรมจากนายบรรณพจน์เช่นเดียวกัน คือ แม้จะมีเงินเข้าบัญชีอย่างน้อยหลายสิบล้านบาท แต่ก็ไม่เคยเอาเงินส่วนตัวคืนให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเวลาถึง 3 ปีเศษ

มาปี 2546 น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงได้มีการนำเงินจากการปันผลมาคืนหนี้ค่าหุ้นที่ได้รับโอนมา (ซึ่งเป็นปีเดียวกันที่นายบรรณพจน์เริ่มนำเงินปันผลมาชำระหนี้) โดยพอได้เงินปันผลหุ้นชินคอร์ปมางวดแรก 9 ล้านบาท ก็จ่ายเงินด้วยเช็คให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2546 ทำให้เหลือหนี้อีก 11 ล้านบาท

พอได้รับเงินปันผลครั้งที่ 2 อีกจำนวน 13.5 ล้านบาท คงเป็นเพราะความเคยชิน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงได้เผลอเขียนเช็คสั่งจ่ายไปอีก 13.5 ล้านบาทตามจำนวนเต็มที่ได้รับปันผลมา (ทั้งๆ มีหนี้เหลือเพียง 11 ล้านบาท) แต่ด้วยความเป็นนักธุรกิจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงได้เฉลียวใจว่าจะเป็นการชำระเกินหนี้ที่มีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงได้แก้ไขเช็คฉบับดังกล่าวด้วยการขีดคาดตัวเลข 13.5 ล้านบาท และแก้ไขเป็นตัวเลข 11 ล้านบาท “ในเช็คใบเดียวกัน”

แต่ความเฉลียวใจนี้ไม่ได้ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เปลี่ยนเช็คใบใหม่ ทำให้ คตส. มีเช็คฉบับ “เผลอหลุดไป” อยู่ในมือของ คตส.เป็นที่เรียบร้อย

อย่างไรก็ตาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ยังเหลือเงินปันผลอีก 2.5 ล้านบาท ที่ไม่ต้องเป็นหนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ แล้ว
แต่เรื่องแบบนี้เงินปันผลถ้ามาจากการถือหุ้นแทน พ.ต.ท.ทักษิณ มีหรือจะเข้ากระเป๋าของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ง่ายๆ!?

ในที่สุดเงิน 2.5 ล้านบาท น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้โอนเงินไปให้ น.ส.พิณทองทา ลูกสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้อ้างว่าเป็นค่านาฬิกาหรูหลายเรือนซึ่งบังเอิญว่าตัวเลขตรงกันพอดิบพอดี ในเวลาที่พอเหมาะพอกันอย่างเหลือเชื่อ

หลังจากเงินปันผลงวดนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เปลี่ยนวิธีเป็นการถอนเงินสดออกจากบัญชีในแต่ละครั้งไม่เกิน 2 ล้านบาท เพื่อที่จะได้ไม่ต้องรายงานต่อคณะกรรมการปราบปรามการฟอกเงิน โดยหลายครั้งปรากฏว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของพรรคไทยรักไทยเป็นผู้มาทำหน้าที่ถอนเงินสดออกจากบัญชี โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นหัวหน้าพรรค!

ยังสงสัยอยู่ว่าถ้าไม่มีรัฐประหาร และไม่มี คตส.ในวันนั้น ประชาชนตาดำๆ คงไม่มีวันจะไปรู้ข้อเท็จจริงเหล่านี้ได้เลย!


Mr. Dinhin Rakpong-Asoke
99 / 293 M.10, Bangkok Boulevard Village [ Ratchada - Ram Intha ]
Kanjanaphisek Rd. 10/1 , Khanna-Yao district,
Khanna-Yao, Bangkok - 10230
THAILAND

โทรบ้าน : 02-3477375
มือถือ : 086-9001177
แฟกซ์ : 02-3790131
E-Mail : dinhin2503@gmail.com
ดูผลงานที่นี่...http://www.flickr.com/photos/46401501@N00/
และ http://wallpaper.thaiware.com/wallpapers_view.php?album_id=7017&showall=1


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Welcome

ธรรมสามัคคี

SocialTwist Tell-a-Friend

AddThis

Bookmark and Share

มิตรภาพไร้พรมแดน

สถิติผู้มาเยี่ยมเยือน

ผู้ติดตาม